ความเห็นเรื่องการใช้พลาสมาเกล็ดเลือดเข้มข้น (Platelet-Rich Plasma, PRP) เพื่อรักษาข้อเข่าเสื่อม
จากราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย
ในปัจจุบันมีการพยายามใช้เทคโนโลยีใหม่เพื่อหวังในการช่วยรักษาอาการข้อเข่าเสื่อมโดยการไม่ผ่าตัดเกิดขึ้นมากมายหลายวิธี หนึ่งในวิธีที่ได้รับความสนใจจากแพทย์ในปัจจุบันคือ การใช้พลาสมาเกล็ดเลือดเข้มข้น (Platelet-rich plasma, PRP) ฉีดเข้าข้อเข่าเพื่อรักษาอาการของโรคข้อเข่าเสื่อม ราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทยได้มอบหมายให้คณะนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญทำการศึกษาหาข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์ของการทำหัตถการดังกล่าวในการรักษาผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อม โดยคณะผู้เชี่ยวชาญได้ทำการค้นหาข้อมูลจากวารสารวิชาการทั่วโลกที่เป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งตีพิมพ์ในฐานข้อมูลวารสารทางการแพทย์ที่เป็นมาตรฐาน (Medline) โดยเน้นถึงงานวิจัยที่เป็นการศึกษาแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุม (Randomized controlled trial study) การทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบ (Systematic review) และการวิเคราะห์อภิมานของการศึกษาแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุม (Meta-analysis of randomized controlled trial study) ที่ตีพิมพ์ในปี 2021 ถึง 2024 โดยคณะผู้ประเมินทั้งหมดมิได้มีส่วนได้ส่วนเสีย (no conflict of interest) กับการทำหัตถการดังกล่าว ภายหลังจากการค้นหา รวบรวมงานวิจัยที่เกี่ยวข้องทั้งหมด คณะผู้เชี่ยวชาญได้ทำการศึกษาแยกแยะรายละเอียดต่างๆของการใช้พลาสมาเกล็ดเลือดเข้มข้นในแต่ละงานวิจัย ในประเด็นดังต่อไปนี้คือ ลักษณะผู้ป่วยที่เข้าทำการศึกษา, ระดับความรุนแรงของโรคข้อเข่าเสื่อมในผู้ป่วยที่เข้าทำการศึกษา, วิธีการเก็บและจำนวนเลือดที่นำมาใช้ทำพลาสมาเกล็ดเลือดเข้มข้น, ความเร็ว รอบและระยะเวลาในการปั่นเลือด, ความเข้มข้นของเกล็ดเลือดที่วัดได้, ปริมาณของพลาสมาเกล็ดเลือดเข้มข้นที่นำมาใช้ในการฉีด, ความเข้มข้นของเม็ดเลือดขาวในพลาสมาเกล็ดเลือดเข้มข้น, การใช้สารต่างๆที่ผสมเข้าไปในพลาสมาเกล็ดเลือดเข้มข้น, จำนวนครั้งของการฉีด, ระยะห่างระหว่างการฉีดแต่ละครั้ง, ระยะเวลาในการติดตามผู้ป่วย, การประเมินคะแนนความเจ็บปวดและการประเมินหน้าที่การทำงานของข้อเข่า รวมถึงภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นจากการฉีดยา
จากการค้นหาเบื้องต้นพบว่ามีผลงานวิจัยที่เป็นการศึกษาแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุมเกี่ยวกับการใช้พลาสมาเกล็ดเลือดเข้มข้นจำนวน 69 เรื่อง จากนั้นทางคณะผู้เชี่ยวชาญได้ทำการคัดเลือกเฉพาะการศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิภาพของการใช้พลาสมาเกล็ดเลือดเข้มข้นในการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมเมื่อเทียบกับยาหลอก (Placebo) ซึ่งมีทั้งสิ้น 12 การศึกษา (1–12) ภายหลังจากการนำมาประเมินผล พบว่าข้อมูลที่ได้จากงานวิจัยทั้งหมดมีความหลากหลายในกระบวนการคัดเลือกผู้ป่วย ระดับความรุนแรงของโรคข้อเข่าเสื่อม กระบวนการขั้นตอนการผลิต จำนวนครั้งในการฉีด ความถี่ในการฉีด เวลาที่ใช้ในการประเมินผล รวมถึงวิธีการวัดผลลัพธ์และหน้าที่การทำงานของข้อเข่าเป็นอย่างมาก ผลการศึกษาที่ได้จึงมีความแตกต่างกันในแต่ละงานวิจัย ทั้งในด้านการลดอาการปวด และการเพิ่มหน้าที่การทำงานของข้อเข่าภายหลังจากการรักษา นอกจากนี้ทางคณะผู้เชี่ยวชาญยังไม่พบหลักฐานทางการแพทย์ที่ชัดเจนในการช่วยฟื้นฟูกลับของกระดูกอ่อนผิวข้อเข่าจากการฉีดพลาสมาเกล็ดเลือดเข้มข้น
สำหรับการศึกษาประเภทการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบและการวิเคราะห์อภิมานของการศึกษาแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุม จากการค้นหาเบื้องต้นพบว่ามีการศึกษาที่เกี่ยวข้องจำนวน 61 เรื่อง และเมื่อทำการคัดเลือกเฉพาะการศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิภาพของการใช้พลาสมาเกล็ดเลือดเข้มข้นในการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมเมื่อเทียบกับยาหลอก พบว่ามีทั้งสิ้น 10 การศึกษา (13–22) โดยผลการศึกษาพบว่าการฉีดพลาสมาเกล็ดเลือดเข้มข้นมีข้อดีในด้านการลดอาการปวดและเพิ่มหน้าที่การทำงานของข้อเข่าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในบางงานวิจัย แต่ทุกงานวิจัยได้ระบุข้อจำกัดที่คล้ายคลึงกันคือ งานวิจัยที่รวบรวมมามีความหลากหลายในกระบวนการการผลิต ,ผลการรักษาที่ได้รับและวิธีการประเมินผล ยังจำเป็นต้องรอผลงานวิจัยที่มีคุณภาพสูงเพิ่มขึ้นในอนาคต นอกจากนี้ในปัจจุบันยังไม่มีการศึกษาด้านการประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ที่ชัดเจนของการทำหัตการดังกล่าวในประเทศไทย จากข้อมูลข้างต้นทางคณะผู้เชี่ยวชาญที่ทำการวิเคราะห์จึงมีความเห็นร่วมกันว่า ในปัจจุบันยังไม่สามารถลงความเห็นให้ข้อสรุปถึง การสนับสนุนหรือไม่สนับสนุนการฉีดพลาสมาเกล็ดเลือดเข้มข้นเข้าข้อเข่าเพื่อรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมได้อย่างชัดเจน และมีข้อพึงระวังคืออาจมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นภายหลังการฉีดได้เช่น มีอาการปวดข้ออักเสบมากขึ้นภายหลังการฉีด ดังนั้นการสรุปผลดังกล่าวจำเป็นที่จะต้องมีการศึกษาในอนาคตที่มีระเบียบวิจัยที่รัดกุม ชัดเจน มีปริมาณผู้เข้าร่วมงานวิจัยที่มากเพียงพอ รวมถึงมีผลงานวิจัยที่เป็นไปในทางเดียวกัน เพื่อที่จะสรุปถึงประโยชน์ของการใช้พลาสมาเกล็ดเลือดเข้มข้นในการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมต่อไป
เอกสารอ้างอิง
- Yoshioka T, Arai N, Sugaya H, Taniguchi Y, Kanamori A, Gosho M, et al. The Effectiveness of Leukocyte-Poor Platelet-Rich Plasma Injections for Symptomatic Mild to Moderate Osteoarthritis of the Knee With Joint Effusion or Bone Marrow Lesions in a Japanese Population: A Randomized, Double-Blind, Placebo-Controlled Clinical Trial. Am J Sports Med. 2024 Aug;52(10):2493–502.
- Tschopp M, Pfirrmann CWA, Brunner F, Fucentese SF, Galley J, Stern C, et al. Morphological and Quantitative Parametric MRI Follow-up of Cartilage Changes Before and After Intra-articular Injection Therapy in Patients With Mild to Moderate Knee Osteoarthritis: A Randomized, Placebo-Controlled Trial. Invest Radiol. 2024 Sep 1;59(9):646–55.
- Karaborklu Argut S, Celik D, Ergin ON, Kilicoglu OI. Does the Combination of Platelet-rich Plasma and Supervised Exercise Yield Better Pain Relief and Enhanced Function in Knee Osteoarthritis? A Randomized Controlled Trial. Clin Orthop. 2024 Jun 1;482(6):1051–61.
- Tschopp M, Pfirrmann CWA, Fucentese SF, Brunner F, Catanzaro S, Kühne N, et al. A Randomized Trial of Intra-articular Injection Therapy for Knee Osteoarthritis. Invest Radiol. 2023 May 1;58(5):355–62.
- Barman A, Bandyopadhyay D, Mohakud S, Sahoo J, Maiti R, Mukherjee S, et al. Comparison of clinical outcome, cartilage turnover, and inflammatory activity following either intra-articular or a combination of intra-articular with intra-osseous platelet-rich plasma injections in osteoarthritis knee: A randomized, clinical trial. Injury. 2023 Feb;54(2):728–37.
- Lewis E, Merghani K, Robertson I, Mulford J, Prentice B, Mathew R, et al. The effectiveness of leucocyte-poor platelet-rich plasma injections on symptomatic early osteoarthritis of the knee: the PEAK randomized controlled trial. Bone Jt J. 2022 Jun;104-B(6):663–71.
- Nunes-Tamashiro JC, Natour J, Ramuth FM, Toffolo SR, Mendes JG, Rosenfeld A, et al. Intra-articular injection with platelet-rich plasma compared to triamcinolone hexacetonide or saline solution in knee osteoarthritis: A double blinded randomized controlled trial with one year follow-up. Clin Rehabil. 2022 Jul;36(7):900–15.
- Chu J, Duan W, Yu Z, Tao T, Xu J, Ma Q, et al. Intra-articular injections of platelet-rich plasma decrease pain and improve functional outcomes than sham saline in patients with knee osteoarthritis. Knee Surg Sports Traumatol Arthrosc Off J ESSKA. 2022 Dec;30(12):4063–71.
- Yurtbay A, Say F, Çinka H, Ersoy A. Multiple platelet-rich plasma injections are superior to single PRP injections or saline in osteoarthritis of the knee: the 2-year results of a randomized, double-blind, placebo-controlled clinical trial. Arch Orthop Trauma Surg. 2022 Oct;142(10):2755–68.
- Bennell KL, Paterson KL, Metcalf BR, Duong V, Eyles J, Kasza J, et al. Effect of Intra-articular Platelet-Rich Plasma vs Placebo Injection on Pain and Medial Tibial Cartilage Volume in Patients With Knee Osteoarthritis: The RESTORE Randomized Clinical Trial. JAMA. 2021 Nov 23;326(20):2021–30.
- Dório M, Pereira RMR, Luz AGB, Deveza LA, de Oliveira RM, Fuller R. Efficacy of platelet-rich plasma and plasma for symptomatic treatment of knee osteoarthritis: a double-blinded placebo-controlled randomized clinical trial. BMC Musculoskelet Disord. 2021 Sep 24;22(1):822.
- Tucker JD, Goetz LL, Duncan MB, Gilman JB, Elmore LW, Sell SA, et al. Randomized, Placebo-Controlled Analysis of the Knee Synovial Environment Following Platelet-Rich Plasma Treatment for Knee Osteoarthritis. PM R. 2021 Jul;13(7):707–19.
- Xue Y, Wang X, Wang X, Huang L, Yao A, Xue Y. A comparative study of the efficacy of intra-articular injection of different drugs in the treatment of mild to moderate knee osteoarthritis: A network meta-analysis. Medicine (Baltimore). 2023 Mar 24;102(12):e33339.
- Sax OC, Chen Z, Mont MA, Delanois RE. The Efficacy of Platelet-Rich Plasma for the Treatment of Knee Osteoarthritis Symptoms and Structural Changes: A Systematic Review and Meta-Analysis. J Arthroplasty. 2022 Nov;37(11):2282-2290.e2.
- Costa LAV, Lenza M, Irrgang JJ, Fu FH, Ferretti M. How Does Platelet-Rich Plasma Compare Clinically to Other Therapies in the Treatment of Knee Osteoarthritis? A Systematic Review and Meta-analysis. Am J Sports Med. 2023 Mar;51(4):1074–86.
- Vilchez-Cavazos F, Blázquez-Saldaña J, Gamboa-Alonso AA, Peña-Martínez VM, Acosta-Olivo CA, Sánchez-García A, et al. The use of platelet-rich plasma in studies with early knee osteoarthritis versus advanced stages of the disease: a systematic review and meta-analysis of 31 randomized clinical trials. Arch Orthop Trauma Surg. 2023 Mar;143(3):1393–408.
- Anil U, Markus DH, Hurley ET, Manjunath AK, Alaia MJ, Campbell KA, et al. The efficacy of intra-articular injections in the treatment of knee osteoarthritis: A network meta-analysis of randomized controlled trials. The Knee. 2021 Oct;32:173–82.
- Singh H, Knapik DM, Polce EM, Eikani CK, Bjornstad AH, Gursoy S, et al. Relative Efficacy of Intra-articular Injections in the Treatment of Knee Osteoarthritis: A Systematic Review and Network Meta-analysis. Am J Sports Med. 2022 Sep;50(11):3140–8.
- Hong M, Cheng C, Sun X, Yan Y, Zhang Q, Wang W, et al. Efficacy and Safety of Intra-Articular Platelet-Rich Plasma in Osteoarthritis Knee: A Systematic Review and Meta-Analysis. BioMed Res Int. 2021;2021:2191926.
- Zhao D, Pan JK, Yang WY, Han YH, Zeng LF, Liang GH, et al. Intra-Articular Injections of Platelet-Rich Plasma, Adipose Mesenchymal Stem Cells, and Bone Marrow Mesenchymal Stem Cells Associated With Better Outcomes Than Hyaluronic Acid and Saline in Knee Osteoarthritis: A Systematic Review and Network Meta-analysis. Arthrosc J Arthrosc Relat Surg Off Publ Arthrosc Assoc N Am Int Arthrosc Assoc. 2021 Jul;37(7):2298-2314.e10.
- Migliorini F, Driessen A, Quack V, Sippel N, Cooper B, Mansy YE, et al. Comparison between intra-articular infiltrations of placebo, steroids, hyaluronic and PRP for knee osteoarthritis: a Bayesian network meta-analysis. Arch Orthop Trauma Surg. 2021 Sep;141(9):1473–90.
- Filardo G, Previtali D, Napoli F, Candrian C, Zaffagnini S, Grassi A. PRP Injections for the Treatment of Knee Osteoarthritis: A Meta-Analysis of Randomized Controlled Trials. Cartilage. 2021 Dec;13(1_suppl):364S-375S.