อ.วินัยเกิดเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2480 อำเภอแกลง จังหวัดระยองเข้าศึกษาในโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาเตรียมแพทยศาสตร์ในปี พ.ศ.2499 และข้ามฟากมาเรียน ณ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และจบแพทยศาสตร์บัณฑิต จากมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ เมื่อปี พ.ศ.2505 เข้าฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านสาขาศัลยศาสตร์ ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ในระหว่างปี พ.ศ.2506 - 2508 ท่านได้ฝึกฝนทำการผ่าตัดในช่องทรวงอกและการผ่าตัดทางออร์โธปิดิกส์เป็นอย่างมากจากอ.สมาน มันตราภรณ์ และอ.วินัยได้ร่วมเดินทางกับหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกไปผ่าตัดรักษาชาวบ้านที่อยู่ห่างไกลของกองบรรเทาทุกข์ สภากาชาดไทย อยู่เนืองๆ
อ.วินัยได้รับการทาบทามให้มาช่วยงานทางออร์โธปิดิกส์ร่วมกับ อ.เล็ก ณ นคร อ.สมัค พุกกะณะเสนและอ.สมิทธิ์ สิทธิพงศ์ เมื่อเริ่มแยกภาควิชาออร์โธปิดิกส์ออกมาจากภาควิชาศัลยศาสตร์ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2508ในขณะนั้นมีอ.ตรง พันธุมโกมลและอ.ชายธวัช งามอุโฆษได้สำเร็จการฝึกอบรมทางศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์จากสหรัฐอเมริกากลับมาร่วมทำงานในภาควิชาออร์โธปิดิกส์เพิ่มขึ้น ต่อมา อ.วินัยสอบชิงทุนรัฐบาลออสเตรียเข้าฝึกอบรมเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้าน Orthopaedic Surgery และ Traumatology จาก University of Viennaประเทศออสเตรีย ท่านได้เดินทางไปดูงานเป็นเวลา 2 ปี ระหว่างปี พ.ศ.2514 - 2516
ในการเดินทางไปฝึกอบรมในครั้งนั้น ท่านได้มีโอกาสเรียนกับ Professor หลายท่าน เช่น ProfessorKarl Chiari, Professor J. Bohler และ Professor Ender เมื่อท่านได้รับ Diploma in Orthopaedics andTraumatology (Vienna) ได้เดินทางกลับมาทำงาน ณ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมกับได้จัดหาเครื่องมือผ่าตัดบางอย่างติดมือกลับมาด้วย เมื่อ พ.ศ.2516
หลังจากกลับจากการฝึกอบรม อ.วินัยได้นำวิธีการผ่าตัดต่างๆ มาใช้กับผู้ป่วยในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์อ.วินัยร่วมกับอ.ชายธวัช ได้บุกเบิกการผ่าตัดทางออร์โธปิดิกส์มากมาย อาทิเช่น การผ่าตัด Charnley total hipreplacement การผ่าตัด Maquet high tibial osteotomy การผ่าตัด closed tibial nailing ในผู้ป่วยกระดูกหน้าแข้งหักชนิดมีแผลเปิด อาจารย์ทั้งสองท่านได้ร่วมกันทำการผ่าตัดดังกล่าวมาเป็นเวลากว่ายี่สิบปี อ.วินัยเป็นผู้หนึ่งซึ่งบุกเบิกการผ่าตัดเปลี่ยนกระดูก (allograft replacement) ให้กับผู้ป่วยที่มีปัญหามะเร็งกระดูกถึงแม้การผ่าตัดบางอย่างต้องใช้ความอดทนเป็นอย่างสูงและมีอุปสรรคนานับประการ อ.วินัยท่านก็ทำการผ่าตัดด้วยความอดทนและค่อยๆหาทางแก้ไขปัญหาต่างๆไปตามขั้นตอน นอกจากการผ่าตัดข้างต้น ยังมีการผ่าตัดที่อาจารย์รักและมักทำการผ่าตัดอยู่เสมอๆ คือ anterior decompression TB spines with rib or iliac bonegraft, Ender nailing for hip fracture, close hip screws for femoral neck fracture, posteriordecompression and plate and screw fixation for burst fracture spine, Chevron osteotomy tocorrect Hallux valgus และ closed Kuntscher nailing for femoral fracture
ในด้านกิจกรรมวิชาการ อ.วินัยเข้าร่วมการประชุมเพื่อให้ความรู้แก่แพทย์ประจำบ้านสถาบันต่างๆโดยเฉพาะ Inter-hospital grand round อย่างสม่ำเสมอ และหมั่นกระตุ้นเตือนสติให้อาจารย์อาวุโสน้อยไปเข้าร่วมการประชุมทุกครั้ง อาจารย์มีคุณสมบัติเพียบพร้อมในฐานะเป็น ครู หมอ นักวิทยาศาสตร์ นักการศึกษานักสังคมสงเคราะห์ ท่านได้ทำประโยชน์เป็นคุณูปการต่อคณะแพทยศาสตร์ ต่อโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ต่อจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่อสมาคมวิชาชีพ คือ สมาคมออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย การทำงานให้กับสังคมต่างๆมากมายของท่านทำให้ท่านแทบไม่มีเวลาว่างเป็นของตัวเองเลย เมื่อสมาคมออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทยจัดตั้งราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทยแล้วเสร็จ ตรงกับวาระที่อ.วินัยดำรงนายกสมาคมฯ ดังนั้น อ.วินัยเป็นผู้ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานท่านแรกของราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทยในขณะเดียวกัน