ศ.นพ.เฟื่อง สัตย์สงวน (2452-2520)

ภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์ฯ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล

ศ.นพ.เฟื่อง สัตย์สงวน เกิดเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2452 ที่ ต.เกาะหลัก อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์เป็นบุตรหมื่นวิสัยชลธาร (พลอย สัตย์สงวน) – นางวิสัยชลธาร (ฟ้อน สัตย์สงวน) มีพี่น้องร่วมบิดามารดาจำนวน9 คน ปี พ.ศ. 2479 ได้สมรสกับ น.ส.ลมุล ธนฤกษ์ มีบุตรธิดาด้วยกันรวม 5 คน ศ.นพ.เฟื่อง สัตย์สงวน ได้ศึกษาชั้นประถมและมัธยมตอนต้นจากเพชรบุรี และได้ศึกษามัธยมตอนปลายที่ ร.ร.สวนกุหลาบวิทยาลัย จากนั้นเข้าศึกษาเตรียมแพทย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมาศึกษาแพทย์ที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชสำเร็จแพทยศาสตร์บัณฑิตเมื่อปี พ.ศ. 2476 และสำเร็จการศึกษาวิชาออร์โธปิดิกส์ จากสหรัฐอเมริกาด้วยทุนมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ เมื่อต้นปี พ.ศ. 2482

ปี พ.ศ. 2486 ศ.นพ.เฟื่อง สัตย์สงวน ได้นำวิชาออร์โธปิดิกส์แผนใหม่จาก Dr. A.Steindler ที่มลรัฐ Iowaประเทศสหรัฐอเมริกา มารักษาผู้ป่วยโรคกระดูกและข้อที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลอย่างมีระบบได้มีโอกาสบำบัดรักษาผู้ป่วยที่ได้รับอุบัติเหตุจากภัยทางอากาศจำนวนมากซึ่งมีพวกกระดูกหักออกนอกเนื้อรักษาพวกโรคกระดูกและข้อต่อตลอดจนเอ็น กล้ามเนื้อ และประสาทด้วย จึงนับได้ว่าอาจารย์เป็นผู้วางอิฐแผ่นแรกอันเป็นรากฐานของวิชานี้ขึ้นในประเทศไทย ซึ่งควรแก่การยกย่องว่าเป็น “บิดาแห่งวิชาออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย” ซึ่งหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สงบลงประมาณปี พ.ศ.2489 ศ.นพ.เฟื่อง ได้ช่วยทำให้วิชานี้เจริญขึ้นอย่างรวดเร็วและยังได้นำเอาศัลยกรรมตกแต่ง (plastic surgery) และศัลยกรรมทรวงอก (thoracic surgery) มาทำด้วย นอกจากนี้ยังได้เป็นผู้ริเริ่มวิชากายภาพบำบัด, การทำขาเทียม, เครื่องช่วยพยุงขาในผู้ป่วยโปลิโอต่อมาท่านได้ขออนุมัติตั้งโรงงานทำเครื่องช่วยคนพิการและแขนขาเทียมขึ้นเป็นแห่งแรกในประเทศไทยที่ รพ.ศิริราชเมื่อปี พ.ศ.2503 วิชาออร์โธปิดิกส์มีความสำคัญและเจริญก้าวหน้าขึ้นมาก ท่านจึงได้ดำเนินการขอแยกเป็นภาควิชาอิสระ ซึ่งได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ตั้งเป็นภาควิชาเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2507 ศ.นพ.เฟื่อง สัตย์สงวนเป็นหัวหน้าภาควิชาคนแรก