นพ.เบนทูล บุญอิต (2441-2511)

โรงพยาบาลพุทธชินราช พิษณุโลก

นพ.วิฑูรย์ เตรียมตระการผล

นพ.เบนทูล บุญอิต เกิดวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ.2441 ที่จังหวัดพิษณุโลก โดยท่านเป็นบุตรของท่านศ.บุญต่วน บุญอิต บางตำราเขียนเพียง ศ.บุญอิต (เนื่องจากในสมัยนั้นเป็นช่วงก่อนรัชกาลที่ 6 ซึ่งยังไม่มีการใช้นามสกุล แต่ในภายหลังเมื่อมีการประกาศการใช้นามสกุล มีรายงานว่าท่านใช้ชื่อบุญต่วน และนำบุญอิตชื่อเดิมเป็นนามสกุลแทน) มารดานพ.เบนทูล คือ นาง กิมฮ๊อก ซึ่งท่านมีพี่น้องรวมท่านเอง 3 คน คือ นายเบนทูล, นางปราณี และ นางปรีดา บุญอิต (พจนา ปิยะปกรณ์ชัย, พึงพิศ การงาม : ประวัตินพ.เบนทูล นางผกา บุญอิต, 2537)

จากชื่อของท่านมีความน่าสนใจเชื่อมโยงไปถึงประวัติการศึกษาของท่านไม่ใช่น้อย ศ.บุญต่วนเป็นมิชชันารีโปรแตสแตนท์ ทำให้นพ.เบนทูล มีชื่อเดิมว่า ซามูเอล เบน บุญอิต ซึ่งต่อมาได้มีการตัดคำว่า ซามูเอล ออก และเติม ทูล เข้าไป ด้วยพื้นฐานของครอบครัวคริสเตียน ทำให้นพ.เบนทูล เริ่มการศึกษาเบื้องต้นที่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย จนจบหลักสูตรเมื่อปี พ.ศ.2459 จากนั้นจึงเดินทางไปศึกษาต่อวิชาแพทยศาสตร์ที่ประเทศฟิลิปปินส์ จนจบการศึกษาในปีพ.ศ.2467 และได้ไปศึกษาต่อที่ประเทศสหรัฐอเมริกาในสาขาศัลยศาสตร์อีกประมาณ 2 ปี ซึ่งประวัติในส่วนนี้ไม่ชัดเจนว่าไปศึกษาก่อนหรือในขณะรับราชการแล้ว บางแหล่งข้อมูล(สืบศักดิ์ พรหมบุญ; คุณหมอเบนทูล บุญอิต ที่ข้าพเจ้ารู้จัก, 2537) กล่าวว่า ท่านได้ไปศึกษาต่อด้านศัลยศาสตร์ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาหลังจากรับราชการโรงพยาบาลกลาง ระหว่างปี พ.ศ.2469-2470

ภายหลังนพ.เบนทูล บุญอิต จบการศึกษาจากประเทศฟิลิปปินส์เมื่อปี พ.ศ.2467 ท่านได้เข้ารับราชการในสังกัดกรมสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย โดยเป็นแพทย์ประจำโรงพยาบาลกลาง เมื่อทำงานได้ 2 ปี ก็ได้ย้ายไปรับราชการ ตำแหน่งอาจารย์โท แผนกศัลยกรรม คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ในปี พ.ศ.2470 ซึ่งในขณะนั้นมี ศ.นพ.พีพี โนเบิล เป็นหัวหน้าภาควิชาศัลยกรรม ภายหลังปฏิบัติงานในคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลได้ 7 ปี ท่านได้ลาออกจากราชการในปีพ.ศ.2477 และได้เดินทางกลับมาพิษณุโลกโดยเริ่มทำงานที่โรงพยาบาลเซลแมนเป็นเวลา 5 ปี ก่อนจะย้ายกลับเข้ารับราชการและได้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลพุทธชินราชพิษณุโลก ซึ่งได้ก่อตั้งขึ้นในปี 2484 โดยท่านเป็นนายแพทย์เพียงท่านเดียวในช่วงแรกของการทำงานและได้พัฒนาระบบต่างๆของโรงพยาบาลให้ก้าวหน้าจนโรงพยาบาลขยายตัวจาก 14 เตียงสู่ระดับ 100 เตียงในการขยายตัวดังกล่าวท่านได้เล็งเห็นความสำคัญของตำแหน่งพยาบาลซึ่งขาดแคลนอย่างมาก ในขณะนั้นนพ.เบนทูลจึงมีส่วนสำคัญในการก่อตั้งวิทยาลัยพยาบาลพิษณุโลก(โรงเรียนพยาบาลผดุงครรภ์และอนามัยในสมัยนั้น)ตลอดจนเป็นหนึ่งในคณาจารย์ผู้ให้ความรู้แก่นักเรียนพยาบาลในสมัยนั้น

การทำงาน และผลงานทางวิชาการด้านศัลยกรรมออร์โธปิดิกส์

ประวัติผลงานการทำงานด้านศัลยกรรมออร์โธปิดิกส์เริ่มมีบันทึกครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2482 ซึ่งเป็นปีที่นพ.เบนทูล ทำงานด้านศัลยกรรมที่โรงพยาบาลศิริราช ร่วมกับศ. ที.พี.โนเบิล และ ศ.ประจักษ์ ทองประเสริฐโดยมีบันทึกไว้ว่า โรคกระดูกที่พบบ่อยในสมัยนั้นคือ โรคกระดูกติดเชื้อจากเชื้อวัณโรค ตลอดจนการติดเชื้อในกระดูกชนิดเรื้อรัง ซึ่งในช่วงแรกจะใช้การรักษาโดยวิธีอนุรักษ์นิยมเป็นหลัก มีรายงานการผ่าตัดน้อยมากต่อมาเมื่อนพ.เบนทูล และศ.นพ.ประจักษ์ กลับจากการศึกษาที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ท่านทั้งสองได้ริเริ่มการผ่าตัดเพื่อรักษาภาวะกระดูกติดเชื้อ chronic osteomyelitis ของ Winnett Orr ซึ่งได้ผลการรักษาดีกว่าวิธีอนุรักษ์นยิ มมาก ทำให้จำนวนการผ่าตัดด้านกระดูกเพิ่มขึ้นในแผนกศัลยกรรมโรงพยาบาลศิริราช (นพ.เกษม เวชคุปต์,เล่าขานถึงวันวาน ยั่งยืนนาน 60 ปี, 2543)

เมื่อท่านลาออกจากโรงพยาบาลศิริราชและกลับมาทำงานที่จังหวัดพิษณุโลก ในช่วงแรกท่านได้เข้าทำงานที่โรงพยาบาลเซลแมน พิษณุโลก ซึ่งตั้งอยู่ ณ ทิศใต้ของค่ายสมเด็จพระนเรศวรฯในปัจจุบัน ท่านได้ปฏิบัติงานอยู่เป็นเวลา 5 ปี ระหว่างปี พ.ศ.2477 - 2481 ต่อมากรมสาธารณสุข ซึ่งอยู่ภายในกระทรวงมหาดไทยในสมัยนั้น ได้มีแผนการขยายโรงพยาบาลจังหวัด สามแห่ง คือ จันทบุรี อยุธยา และ พิษณุโลก โดยข้าหลวงในขณะนั้นที่มีส่วนสำคัญในการก่อตั้ง รพ.พุทธชินราชคือ พระยาสุราษฎร์ธานี ศรีเกษตรนิคม พ.ต. หลวงยุทธสารประสิทธิ์และนพ.เกิด ธนะชาติ ทั้งสามท่านได้ทาบทาม นพ.เบนทูล ให้กลับเข้ารับราชการและเริ่มงานในตำแหน่ง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพุทธชินราชพิษณุโลก (ศรัณย์ ชัยรัตน์ : 2520: 43)

ภายหลังปฏิบัติงานในตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลพุทธชินราช ท่านมีส่วนสำคัญในการวางแผนส่งแพทย์ศึกษาต่อ พัฒนาอาคารสถานที่ ตลอดจนเครื่องมือแพทย์ จนโรงพยาบาลมีการขยายตัวไปอย่างมากท่านและภรรยา ผกา บุญอิต ได้ร่วมกันก่อตั้งโรงเรียนพยาบาลผดุงครรภ์และอนามัย (ปัจจุบันคือวิทยาลัยพยาบาลพุทธชินราชพิษณุโลก) ซึ่งท่านได้ทำหน้าที่เป็นอาจารย์สอนนักเรียนพยาบาลขณะนั้น ในวิชากายวิภาคและสรีรวิทยา และในช่วงเวลานั้นเอง ท่านได้แต่งตำรา กายวิภาควิทยาและสรีรวิทยาสำหรับพยาบาลซึ่งได้ตีพิมพ์โดยโรงพิมพ์แพร่การช่าง ปี พ.ศ.2507 ถือเป็นตำราฉบับแรกของท่านในขณะปฏิบัติงานในประเทศไทย

หากจะกล่าวถึงผลงานวิชาการในรูปแบบบทความ และงานวิจัย นพ.เบนทูลมีผลงานปรากฎทั้งในนิตยสารการแพทย์ต่างประเทศและประเทศไทยหลายฉบับ โดยผลงานของท่านจะครอบคลุมทั้งในสาขาวิชาศัลยกรรม ศัลยกรรมออร์โธปิดิกส์ และอายุรกรรม ซึ่งแพทย์ในสมัยก่อนไม่ได้มีการแบ่งแยกงานอย่างชัดเจนโดยผลงานของท่านมีดังต่อไปนี้

1. Boon-itt, S.B. The normal position of the patella. Am J. Roentgen. 1930. 24: 389-94,
2. Boon-itt, S.B. A study of the end results of synovectomy of the knee. J Bone JointSurg. 1930.12:853-88.
3. Caulk, John R. and Boon-itt, S.B. Carcinoma of the prostate. Am J Cancer. 1932.16:1024-52.
4. เนื้อร้ายที่ลึงค์ชาย 2475 จ.พ.ส.พ. 25, 183-215.
5. โรคซึ่งเกิดจากตัวอะมีบา 2494 จ.พ.ส.พ. 34, 41-57 (ตอน 3).
6. ลำไส้บิดและอุดตัน 2499 เวชสาร 5, 793-796.

ผลงานวิชาการที่สำคัญทางด้านศัลยกรรมออร์โธปิดิกส์ คือ A study of the end results ofsynovectomy of the knee ซึ่งนพ.เบนทูลได้เขียนเมื่อครั้งไปศึกษาที่มหาวิทยาลัยแห่งรัฐ Iowa ปีค.ศ.1930ผลงานวิชาการนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร JBJS ในขณะนั้น ซึ่งคุณค่างานวิจัยนี้ เป็นการชี้ให้เห็นประโยชน์ และการเลือกใช้การผ่าตัดเนื้อเยื่อหุ้มข้อออก (synovectomy) ในภาวะต่างๆของโรคทางข้อต่อ เช่นการติดเชื้อในข้อต่อการอักเสบชนิดหลายข้อ อุบัติเหตุ ตลอดจนการติดเชื้อวัณโรคในข้อ นอกจากนี้ผลงานวิชาการดังกล่าวยังเป็นการเผยแพร่เทคนิคการตัดนำเยื่อหุ้มข้อกระดูกออก ผลงานวิชาการที่สำคัญอีกฉบับหนึ่งคือ The normal positionof the patella ซึ่งเป็นการรวบรวมข้อมูลภาพทางรังสีข้อเข่าผู้ป่วย 200 รายมาสร้างสูตรทางสถิติ ซึ่งมีชื่อเรียกในวารสารวิชาการหลายฉบับว่า Boon-Itt’s formula ใช้หาตำแหน่งปกติของกระดูกลูกสะบ้าในมนุษย์ ตีพิมพ์ในวารสาร Am J. Roentgen ปี 1930 งานวิจัยนี้ถือเป็นการบุกเบิกการคำนวณหาตำแหน่งปกติของลูกสะบ้างานวิจัยนี้ได้รับการอ้างอิงถึงอีกหลายครั้งในวารสารฉบับต่อมา และเป็นที่มาของค่ามาตรฐานของตำแหน่งลูกสะบ้าที่นิยมใช้กันในปัจจุบัน เช่น Insall Salvati, BlackBurne-Peel และ Caton-Deschamps indexเป็นต้น

นอกจากผลงานในรูปแบบเอกสารวิชาการแล้ว นพ.เบนทูล ยังได้ริเริ่มการอ่านงานเวชสารต่างประเทศในโรงพยาบาลพุทธชินราช เป็นJournal club จากการค้นคว้าของผู้เขียนพบรายงานการอ่านงานเวชสารต่างประเทศเริ่มต้นในปีใดข้อมูลไม่แน่ชัด แต่จากบันทึกของแพทย์หลายท่านในสมัยนั้น อาทิ นพ.จำเริญ นพ.เสม พริ้งพวงแก้ว และ นายเยียน โพธิสุวรรณ เขียนตรงกันว่ามีการอ่านเวชสารต่างประเทศทุกวัน เวลา19.30เป็นเวลา 1 ชม. โดยไม่คำนึงถึงจำนวนผู้เข้าร่วม บ่อยครั้งมีแพทย์เพียง 2 ท่าน นพ.เบนทูลก็ยังดำเนินกิจกรรม
ดังกล่าวเรื่อยมา นอกจากนี้ นพ.เบนทูลยังเป็นผู้ก่อตั้งการประชุมแพทย์ภาคในต่างจังหวัดของแพทย์สมาคมในปี พ.ศ.2493 โดยเริ่มจากจังหวัดใกล้เคียงตามแนวรางรถไฟ คือ พิจิตร อุตรดิตถ์ สุโขทัย และพิษณุโลก ต่อมาได้ขยายไปจัดยังภาคอีสาน และภาคเหนือตามลำดับ (อุดม เจนพาณิชย์, พลิกตำนานโรงพยาบาลพุทธชินราชพิษณุโลก, 2543)

ศ.นพ.สุด แสงวิเชียร ได้สดุดียกย่อง อ.เบนทูล บุญอิตในหนังสือ “เบนทูล – ผกา บุญอิต อนุสรณ์” ดังนี้

- มีผลงานค้นคว้า มีบทความวิชาการที่ตีพิมพ์ในวารสารระดับสากล 3 เรื่อง
- สละโอกาสอันดีและชื่อเสียงจากครูแพทย์ รพ.ศิริราชมาเป็นผอ.รพ.เล็กๆ คือ รพ.เซลแมน ที่จังหวัดพิษณุโลก
- มีความกตัญญูระลึกต่อรพ.ศิริราชที่เป็นสถาบันฝึกงานทางศัลยกรรมเหมือนหนึ่งได้เรียนจบมาจากสถาบันแห่งนี้ เช่นเดียวกับลูกศิริราชทั่วไป
- มีมาตรฐานการรักษาของหมอผ่าตัด ห้องผ่าตัด ต้องทันสมัย สะอาด มีเครื่องมือครบ
- มีผลการปฏิบัติงานที่จะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ส่วนรวม หรือเป็นอนุสรณ์ต่อไปในภายหน้าได้
- มีคุณธรรมของบุคคลตามหลักพุทธศาสนา 4 ประการ คือ มีศรัทธา มีความเพียรมีสติมั่นคง และมีปัญญา

อ.นพ.เสม พริ้งพวงแก้ว อดีต รมว.สาธารณสุข ได้ยกย่องให้ อ.เบนทูล บุญอิต และภรรยาของท่าน อ.ผกา บุญอิต เป็นผู้บุกเบิกการแพทย์และการพยาบาลในชนบทตอนหนึ่งที่ท่านเขียนไว้อาลัย อ.เบนทูล ท่านประทับใจแนวคิดต่อการเป็นแพทย์ที่ดี เมื่อมีผู้ถามท่านว่าแพทย์ที่
สำเร็จการศึกษาคงต้องออกมารับราชการในต่างจังหวัด จะควรเตรียมตัวและเตรียมใจอย่างไรบ้าง“ในเรื่องนี้ คณะแพทยศาสตร์ได้เตรียมสอนทางวิชาการก็เป็นแค่ส่วนหนึ่งของการเรียนแพทย์เท่านั้น ควรดำริหาทางที่จะช่วยเตรียมหาความชำนาญให้ด้วยจึงเหมาะ เพราะแพทย์ที่มีความรู้แต่ยังขาดความชำนาญ ก็จะทำให้แพทย์ผู้นั้นขาดความเป็นประโยชน์แก่ประชาชนไปไม่มากก็น้อยยิ่งในชนบทด้วยแล้ว ความชำนาญออกจะเป็นสิ่งสำคัญยิ่งในชีวิตของแพทย์ใหม่”อ.เสม เขียนบันทึกดังนี้

“คำตอบของท่านอ.เบนทูล บุญอิต ยังคงเป็นอมตะอยู่ในปรัชญาของการศึกษาแพทย์อยู่จนถึงปัจจุบันนี้ ความชำนาญและประสบการณ์ในชีวิตการแพทย์ไม่สามารถที่จะหาได้จากการเรียนหนังสือ แต่จะหาได้จากการกระทำและกาลเวลาที่ล่วงลับไปแล้วเท่านั้น ความสำนึกถึงหน้าที่
ที่ครอบครัวบุญอิตได้ปฏิบัติแก่ชาวพิษณุโลกมาด้วยดีแต่กาลก่อน กอปรทั้งความสำนึกในการบำเพ็ญตนเป็นมิชชันนารีที่ดี ท่านอ.เบนทูล บุญอิตได้สละตำแหน่งครูแพทย์ในรพ.ศิริราชซึ่งมองเห็นอนาคตรุ่งโรจน์ ต้องออกมาต่อสู้กับความแห้งแล้ง ขาดเครื่องมือเครื่องใช้ ขาดบุคคลที่ชำนาญงาน เพื่อออกมาสู่โลกใหม่แห่งการแพทย์ในชนบทที่โรงพยาบาลเซลแมน เมืองพิษณุโลก”

นพ.ธวัช ประสาทฤทธา