ผมเข้ารับตำแหน่งประธานราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์และนายกสมาคมออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย วาระปี 2541-2543 ต่อจากสมัยของท่านอ.นพ.พงษ์ศักดิ์ วัฒนา ขณะนั้นที่ทำการของราชวิทยาลัยฯได้ย้ายมาอยู่ที่อาคารเฉลิมพระเกียรติ ชั้น 4 ซอยศูนย์วิจัย เรียบร้อยแล้ว ส่วนของคณะกรรมการราชวิทยาลัยฯ ผมได้ขอร้องให้อ.สารเนตร์ ไวคกุล (ซึ่งท่านเคยเป็นอุปนายกฝ่ายวิชาการมาแล้ว) กลับมารับตำแหน่งเลขาธิการอีกครั้ง ซึ่งท่านก็ยินดีเสียสละ ยินยอมมาเป็นหัวแรงหรือตำแหน่งแม่บ้านของราชวิทยาลัยฯ อีกครั้ง เป็นกำลังสำคัญที่ได้ช่วยกันฟันฝ่าอุปสรรคทั้งหลายทั้งมวล จนทำให้กิจการของราชวิทยาลัยฯ สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี
นอกจากนี้มีเหตุการณ์สำคัญที่ผมในฐานะประธานราชวิทยาลัยฯ บูรพคณาจารย์อาวุโส คณะกรรมการรวมทั้งมวลสมาชิก ถือเป็นเกียรติประวัติที่น่าภาคภูมิใจ สมกับที่เราทุกคนเป็นข้าของแผ่นดินคือ
1. ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พวกเราได้เข้าเฝ้าเพื่อทูลเกล้าทูลกระหม่อม ถวายตำแหน่งสมาชิกกิตติมศักดิ์ของราชวิทยาลัยในวันที่ 26 เมษายน 2543
2. ในการประชุมวิชาการประจำปี 2542 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี เสด็จมาเป็นองค์ประธานเปิดการประชุม และในวโรกาสพิเศษนี้ทางราชวิทยาลัยได้กราบบังคมทูลถวายครุยสมาชิกกิตติมศักดิ์ของราชวิทยาลัยแด่พระองค์ท่านด้วย
ทั้งสองเหตุการณ์นี้พวกเราชาวออร์โธปิดิกส์มีความภาคภูมิใจและซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น

กิจกรรม ผลงานและเกียรติประวัติของราชวิทยาลัยฯ ในช่วงสมัยของผมและคณะกรรมการ พอจำแนกได้ดังนี้
1. การจัดการประชุมวิชาการ
1.1 การประชุมวิชาการประจำปี (Annual Meeting) ยังคงใช้สถานที่ที่โรงแรมรอยัล คลิฟ บีชรีสอร์ท พัทยา เช่นเดิม
ปี 2542 ศ.เกียรติคุณ นพ.เจริญ โชติกวณิชย์ เป็นประธาน นพ.ธวัช ประสาทฤทธา เป็นเลขาธิการมี Theme ของงานคือ “Spine and Pediatric Orthopaedics” เป็นที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่ง โดยที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี มีพระมหากรุณาธิคุณ เสด็จมาเป็นองค์ประธานเปิดการประชุม
ปี 2543 มีรศ.นพ.ชายธวัช งามอุโฆษ เป็นประธานจัดการประชุม มีรศ.นพ.อดิศร ภัทราดูลย์เป็นเลขาธิการ เรื่อง “Joint Surgery 2000”
1.2 การจัดการประชุมร่วมกับราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย ประจำปี 2542
1.3 การจัดการประชุมวิชาการเฉลิมพระเกียรติของกลุ่มสถาบันฝึกอบรมแพทย์เฉพาะทางแห่งประเทศไทย โดย นพ.สุทร บวรรัตนเวช รองประธานฝ่ายวิชาการ ทำหน้าที่เลขาธิการของคณะจัดการประชุม
2. การประชุมโครงการพัฒนาราชวิทยาลัยฯ เมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2542
3. การพิจารณาจัดตั้งเกณฑ์การประเมินสถาบันฝึกอบรม และเกณฑ์การรับสมัครแพทย์ประจำบ้าน
เนื่องจากทางการแพทย์ การพัฒนาคุณภาพทั้งในการศึกษาและการบริการมีการตื่นตัวกันมาก เช่นเดียวกับการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้าน แพทยสภาได้มีการกำหนดให้มีการตรวจประเมิน สถาบันฝึกอบรมให้มีมาตรฐานเดียวกัน ทางราชวิทยาลัยฯ จึงจัดให้มีการพิจารณาจัดตั้งเกณฑ์การประเมินสถาบันตลอดไปจนถึงเกณฑ์การรับสมัครแพทย์ประจำบ้านด้วย
4. กิจกรรมสำหรับประชาชน
เนื่องจากคณะกรรมการพิจารณาเห็นว่ากิจกรรมต่างๆ ที่ผ่านมา โดยเฉพาะทางวิชาการ เรามักจะเน้นเฉพาะสมาชิกแพทย์ของราชวิทยาลัยฯ และผู้ร่วมงานของเรา อาทิ พยาบาล หรือบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับเราเท่านั้น เพื่อที่จะเผยแพร่ความรู้ต่างๆ ไปสู่ประชาชนทั่วไปด้วย จึงจัดให้มีโครงการอบรมเผยแพร่ เริ่มจากครูนักเรียน และประชาชนทั่วไป มีการทำแผ่นพับแจกตามสถาบันต่างๆ เพื่อกระจายให้ถึงผู้ป่วยและประชาชนทั่วไปมีการเสนอความรู้ตามสื่อ อาทิเช่น โทรทัศน์ และวิทยุ
5. การจัดแบ่งกิจกรรมของอนุสาขาย่อย
มีประธานกรรมการกลุ่มจัดการเป็น 12 สาขาวิชาย่อย ได้แก่
- Spine section
- Paediatric section
- Research methodology section
- Biomaterials section
- Tumor section
- Hip & Knee section
- Tissue banking section
- Hand section
- Trauma section
- Sports medicine section
- Metabolic bone disease section
- กลุ่มสารสนเทศ informatics
6. โครงการที่ริเริ่มใหม่และดำเนินต่อเนื่อง
6.1 โครงการ CME (Continuing medical education)
เป็นที่ทราบกันดีว่าการบริการทางการแพทย์ต้องมีการควบคุมอย่างใกล้ชิดโดยเฉพาะในยุคของสิทธิของผู้ป่วยและผลกระทบจากกระแสการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ในประเทศไทยเรามีหลายหนว่ ยงาน ดำ เนนิ การเป็นรูปธรรมแล้ว ทางราชวิทยาลัยฯ จึงได้จัดให้มีแผนงานจัดการศึกษาต่อเนื่องขึ้น มีแผนพัฒนาและปรับปรุงวิธีการและขบวนการต่อเนื่อง โดยมีรองประธานฝ่ายวิชาการเป็นประธานโดยตำแหน่ง
6.2 ความสัมพันธ์กับต่างประเทศ เป็นกิจกรรมที่เราทำต่อเนื่องมาแล้วราชวิทยาลัยฯมีความสัมพันธ์เป็นอย่างดีกับราชวิทยาลัยศัลยแพทย์และราชวิทยาลัยอื่นๆ สมาคมแพทย์ตลอดจนต่างประเทศที่สำคัญคือ ASEAN Orthopaedic Association สมาชิกของเราเข้าร่วมกิจกรรมทั้งทางวิชาการ การประชุมร่วมกับเพื่อแพทย์ orthopaedist ของประเทศเพื่อนบ้าน ASEAN สม่ำเสมอ บางท่านได้เสนอผลงาน บางท่านได้รับเชิญเป็นวิทยากร บางท่านได้รับเชิญเป็น traveling fellow นำชื่อเสียงมาสู่ประเทศไทยเรา ผมเองได้รับตำแหน่งเป็น President ของ ASEAN Orthopaedic Association คนที่ 20 ปี 2542 นอกจากนี้สมาคมแพทย์ต่างประเทศที่เรายังมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดสม่ำเสมอ คือ
6.2.1 Western Pacific Orthopaedic Association
6.2.2 American Academy Orthopaedic Surgeons
6.2.3 American Orthopaedic Association
6.2.4 EFORT สมาคมแพทย์ออร์โธปิดิกส์ของยุโรป
ราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย มีการติดต่อแลกเปลี่ยนวิชาการ travelingfellowship ทำให้เรามีความสัมพันธ์อันดีงามกับประเทศเพื่อนทั่วโลก นำชื่อเสียงมาสู่ประเทศชาติของเราเป็นอย่างดี
7. ภาระหน้าที่รับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาท
ราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทยของเราโชคดีได้มีโอกาสรับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาทในวาระต่างๆ โดยเฉพาะสมาชิกอาวุโสบางท่าน ได้มีโอกาสรับราชการสนองพระเดชพระคุณ รับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาท สมกับที่ราชวิทยาลัยฯ ได้อยู่ใต้พระบรมราชานุเคราะห์ และเป็นที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้คณะกรรมการอำนวยการาชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายตำแหน่งสมาชิกกิตติมศักดิ์ของราชวิทยาลัยฯ แด่พระองค์ท่านเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2543 ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
ในช่วงปี 2541-2543 ของราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ถึงแม้ว่าเราจะมีช่วงเวลาวิกฤติอย่างรุนแรงอย่างเป็นที่สุด แต่ด้วยความเมตตา กรุณาปราณีของบูรคณาจารย์ทั้งที่ล่วงลับไปแล้ว และที่มีชีวิตอยู่ ด้วยความร่วมแรงร่วมใจของมวลสมาชิกและคณะกรรมการได้ช่วยขจัดปัดเป่าฟันฝ่าอุปสรรค์และภยันตรายทั้งปวง ทำให้ราชวิทยาลัยฯ ผงาดขึ้นมาทัดเทียม หรือเจริญล้ำหน้าเพื่อนราชวิทยาลัยแพทย์อื่นๆ
ผมขอถือโอกาสนี้แสดงคารวะ ขอบคุณท่านคณาจารย์และเพื่อนสมาชิกที่ได้ให้ความกรุณาต่อราชวิทยาลัยเป็นพิเศษ เนื่องในวาระวิกฤตินั้นคือ
- ศ.เกียรติคุณ นพ.นที รักษ์พลเมือง
- พล.ท.นพ.ธำรงรัตน์ แก้วกาญจน์
- ศ.เกียรติคุณ นพ.เจริญ โชติกวณิชย์
- พล.ท.นพ.สุปรีชา โมกขะเวส
- พ.ท.นพ.สุทร บวรรัตนเวช
- นพ.ธวัช ประสาทฤทธา
- ศ.นพ.สารเนตร์ ไวคกุล
รวมทั้งกระแสน้ำใจของคณะกรรมการ และมวลสมาชิกทั้งปวง
สุดท้ายนี้ ผมยินดีเป็นอย่างยิ่งที่เป็นส่วนหนึ่งของราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทยได้ทำงานรับใช้ประเทศชาติ ได้มีโอกาสได้รับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ได้รับใช้ปวงชนชาวไทย เป็นที่พึ่งของผู้ป่วยที่ยากไร้และสิ้นหวังทั้งปวง ขอให้พวกเราชาวออร์โธปิดิกส์ ช่วยกันทำนุบำรุงราชวิทยาลัยฯ ของเราให้เจริญรุ่งเรืองยิ่งๆ ขึ้นไป สมเจตนารมณ์ของบูรพคณาจารย์ที่ล่วงลับไปแล้ว มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องทั้งเรื่องการเรียนการสอน การวิจัย การบริการและการเป็นนานาชาติ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด นำความเจริญมาสู่ประเทศชาติสืบไป