ศ.นพ.คง สุวรรณรัต (2455-2548)

โรงพยาบาลเลิดสิน

  • 2482 จากคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • 2494 ได้รับทุน M.S.A ของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ไปศึกษาและฝึกอบรมที่ Barn’s Hospital,Washington University, Medical School, St. Louis, Missouri เป็นเวลา 12 เดือน
  • 2501 สอบได้รับทุนศึกษาและฝึกงานในแผนงานโคลัมโบ The Royal National OrthopaedicHospital, Institute of Orthopaedics, London University, London เวลา 12 เดือน

ผลงานโดยสังเขป

  • ปี 2502-2511 ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเลิดสิน เป็นผู้พัฒนางานด้านออร์โธปิดิกส์ เป็นผู้ก่อตั้งโรงงานกายอุปกรณ์โรงพยาบาลเลิดสิน
  • ปี 2519-2520 ได้รับเลือก เป็น นายกสมาคมออร์โธปิดิคส์ แห่งประเทศไทยคนแรกและเป็นผู้ดำเนินการขออนุญาต ตั้งเป็น สมาคมออร์โธปิดิคส์ แห่งประเทศไทย จนได้รับอนุญาตจากกรมการศาสนาเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2519 ให้ตั้งเป็นสมาคมได้
  • ปี 2512 เป็นผู้อำนวยการ กองโรงพยาบาลภูมิภาค กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
  • ปี 2515 เป็น รองอธิบดี กรมการแพทย์ ซึ่งต่อมาได้มีการปฏิรูปส่วนราชการ เป็น “กรมการแพทย์และอนามัย” กระทรวงสาธารณสุข
  • 30 ก.ย. 2517 เกษียณอายุราชการ
  • 1 ต.ค. 2517 โดยอนุมัติของ คณะรัฐมนตรี กระทรวงสาธารณสุข ได้แต่งตั้งเป็น ผู้อำนวยการ โครงการเวชปฏิบัติฟื้นฟู (Medical Rehabilitation - WHO Project Thailand 0093) รับราชการต่ออีก 2 ปี
  • 1 ต.ค. 2520 กระทรวงสาธารณสุข โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ในโครงการเวชปฏิบัติฟื้นฟู และศัลยกรรมออร์โธปิดิกส์ ทั้งนี้ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

สมัยก่อนรพ.เลิดสินมีแค่อาคารขนาดเล็กและเก่า พอการก่อสร้างตึกผู้ป่วยนอกเสร็จพวกเราจึงเรียกตึกนี้ว่า “ตึกช้างเดิน” ซึ่งเป็นผลงานของอ.นั่นเอง อ.คงเป็นแบบอย่างของผู้บริหารที่เห็นการไกลและมีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้บริหารระดับกรมจึงได้งบประมาณมาเป็นจำนวนมาก ที่จริงแล้วยังมีผลงานด้านก่อสร้างอื่นๆอีกที่ได้ดำเนินการไปแล้วก่อนที่ผู้เขียนจะย้ายมาอยู่รพ.เลิดสิน อ.เป็นแบบอย่างของความเมตตาและกรุณาที่มีต่อศิษย์ซึ่งหาได้ยากมาก ผู้เขียนได้รับเงินเดือนจาก อ.คง และน่าจะเป็นเจ้าหนี้นอกระบบคนแรกที่ไม่คิดดอกเบี้ย และไม่ต้องมีหลักฐานใดๆทั้งสิ้น พวกเราจึงได้คุณพ่อ ณ ที่ทำงานอีกคนหนึ่งที่คอยดูแลเราแทนคุณพ่อที่บ้าน

อ.คงเห็นความสำคัญของภาษาที่เกี่ยวข้องกับทางการแพทย์ และเวลาดูคนไข้ อ.ก็มักจะพูดถึงความสำคัญของภาษาอังกฤษสำหรับแพทย์อยู่เสมอ ในที่สุดอ.จึงได้ลงมือจัดให้มีการสอนภาษาอังกฤษและเยอรมันให้กับพวกเราอาทิตย์ละ 1 ครั้ง เพื่อหวังจะให้ศิษย์มีความรู้ใน 2 ภาษา เพราะเป็นภาษาของประเทศที่พวกเราควรจะได้ไปดูงานและฝึกอบรมโดยพวกเราไม่ต้องควักสตางค์เลยจึงน่าสงสัยว่า อ.อาจจะควักกระเป๋าตนเอง มาเป็นค่าสอนก็เป็นได้ อ.เป็นแบบอย่างของนักบริหารมืออาชีพในเรื่องการบริหารงานบุคคล กล่าวคือ ผู้บริหารทุกระดับควรใกล้ชิดและรู้จักผู้ใต้บังคับบัญชาทุกคนในเรื่องของการรู้เขารู้เราให้มากที่สุด เพื่อที่จะได้ใช้งานรวมทั้งแก้ปัญหา และสนับสนุนงานของแต่ละบุคคลได้อย่างถูกต้อง การได้พบกันทุกวันเป็นโอกาสให้อ.หล่อหลอมศิษย์ทุกวันให้เป็นไปตามที่อ.ต้องการ และเห็นความถนัดของแต่ละบุคคลจากการพูดคุยกับพวกเรา

อ.คงได้เริ่มงานทรหดอย่างต่อเนื่อง คือ การนิเทศงานเวชกรรมฟื้นฟูโดยเดินทางไปนิเทศงานที่โรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไปเกือบทั่วประเทศประมาณกว่า 2 รอบ แม้อาจารย์อายุมากแล้ว แต่ต้องเหนื่อยยากเพราะต้องเดินทางไกลแบบเดินสายครั้งละหลายจังหวัด และต้องไปทั่วประเทศเพื่อก่อตั้งงานต่างๆของเวชกรรมฟื้นฟู แต่ไม่เคยได้ยินคำพูดว่า “เหนื่อย”แม้แต่ครั้งเดียวอ.ทำเงียบๆไม่แสดงตัวหรือไม่ออกข่าวเลยแม้แต่ครั้งเดียว อ.มักจะเดินทางไปนิเทศงานโดยการโดยสารรถไฟ และถ้าไม่ไกลนัก อ.ก็มักจะให้ทางรพ.ที่จะไปเยี่ยมและบรรยายส่งรถมารับ อ.จึงเป็นแบบอย่างของนักบริหารที่สำรวมระวังในการใช้จ่ายเงินของรัฐบาล ดำเนินชีวิตเรียบง่ายและติดดิน

อ.เป็นบุคคลที่เติมเต็มองค์ประกอบสุดท้ายของการให้บริการทางการแพทย์และสาธรณสุขคือ การฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ให้เกิดขึ้นในทุกรพ.ศูนย์และรพ.ทั่วไปในทุกจังหวัดทั่วประเทศ อ.เป็นบุคคลที่มีความบริสุทธิ์ทางจิตใจ หรือมีจิตใจที่ประเสริฐเหมือนพระ และไม่เคยรู้เห็นว่าอาจารย์มีความทุกข์อะไรเลยแม้แต่นิดเดียว จึงได้ชื่อว่า อ.ละอกุศลทั้งปวงได้เป็นอย่างดี และมุ่งมั่นทำแต่ความดี จึงเป็นแบบอย่างของบุคคลที่มุ่งคิด พูด และทำแต่ความดี ซึ่งหาได้ยากในโลกนี้

หลังเกษียณอายุ อ.ยังทำงานให้กับมูลนิธิรพ.สงฆ์ ในบั้นปลายชีวิตของท่าน ท่านยังคงแต่งตัวเรียบร้อยเหมือนไปทำงานตามปรกติ โดยภรรยาของอ.เล่าว่า อ.แต่งตัวเช่นนี้ทุกวัน และรอรถที่จะมารับอ.ไปทำงานเช่นเคย ซึ่งแสดงว่าอ.ฝังลึกเรื่องงานและการทำความดีไว้ในความจำเป็นอย่างดีจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต

นพ.เอกชัย จุละจาริตต์